ปัญหาผื่นในฤดูหนาว
ถึงแม้ว่าหน้าหนาวจะมีสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็นสบาย แต่ก็ไม่อาจการันตีได้เลยว่า คุณจะสามารถพ้นจากวิกฤติของการเกิด ผื่นในฤดูหนาว ที่ส่งผลเสียต่อผิวหนังนี้ไปได้ แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไปค่ะ เพราะวันนี้มีวิธีการรักษาผื่นด้วยตนเอง มาฝากให้ทุกคนได้ลองนำไปฏิบัติตามกัน
ผื่นในฤดูหนาว คืออะไร
ผื่นในฤดูหนาว (Winter Rash) คือ ผื่นที่เกิดจากการที่สภาพอากาศหนาวเย็นเข้าไปลดความชุ่มชื่นของชั้นผิวหนัง จนส่งผลให้ผิวแห้ง และเป็นผดผื่น แม้ว่าอาจจะไม่มีอันตราย แต่คุณก็ควรให้ความสำคัญในการดูแลและบำรุงผิวในฤดูหนาว เพราะหากคุณละเลยการดูแลผิว นอกเหนือจากผื่นหน้านาวแล้ว คุณก็อาจเกิดโรคทางผิวหนังรุนแรงบางอย่าง ดังต่อไปนี้ ตามมาได้
โรซาเซีย (Rosacea) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดผดผื่น และมีตุ่มแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามผิวหนัง
โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) สามารถเกิดได้จากสภาพอากาศที่หนาวเย็นและแห้ง จนทำให้ผิวหนังเกิดเป็นผื่นแดง และขุยสีขาวลอกออกมาเป็นแผ่นหนาได้
โรคผิวหนัง (Dermatitis) คือการอักเสบของผิวหนังที่ทำให้เกิดอาการคัน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการไหลเวียนของเลือดติดขัด หรือการเผลอสัมผัสกับสารอันตรายจนเกิดการติดเชื้อขึ้น
ลมพิษที่เกิดจากความเย็น (Cold urticaria) ถึงแม้ว่าภาวะนี้จะค่อนข้างพบได้ยาก แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้หากผิวหนังคุณสัมผัสกับความเย็นจนมากเกินไป จนส่งผลให้ผิวหนังมีอาการบวมแดงคัน และผื่นขึ้น แต่คุณไม่ต้องเป็นกังวลใจไป เพราะผื่นที่เกิดจากภาวะดังกล่าวอาจอยู่เพียงชั่วคราวประมาณ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น
อาการของ ผื่นหน้าหนาว
นอกเหนือจากอาการผดผื่นแล้ว ผื่นหน้าหนาว ก็อาจมาพร้อมกับอาการดังต่อไปนี้
อาการคัน
ผิวหนังเป็นสะเก็ด
แผลพุพอง
ผิวหนังบวมอักเสบ
ผื่น และรอยแดง
หากมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ หรือหากอาการที่มีรุนแรงขึ้นกว่าเดิม คุณควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังทันที เพื่อรับการตรวจสอบและรักษาได้อย่างทันท่วงที
วิธีรักษาผื่นในฤดูหนาว ด้วยตนเอง
โดยปกติ ผื่นหน้าหนาว มักเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย แต่โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบริเวณแขน ขา มือ ซึ่งหากคุณสังเกตเห็นว่าเริ่มมีอาการคันระคายเคือง พร้อมผื่นขึ้นแล้วละก็ คุณสามารถปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยรักษาอาการผื่นหน้าหนาวด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ
ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มความชุ่มชื่น และอ่อนโยนแก่ผิว เช่น มอยส์เจอไรเซอร์ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก เป็นต้น หลังอาบน้ำทุกครั้ง
หลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่มีอุณหภูมิสูง
ทาครีมกันแดดอย่างเป็นประจำ เพื่อป้องกันผิวหนังไหม้
ใช้ระยะเวลาการอาบน้ำให้สั้นลง เพราะการอาบน้ำเป็นระยะเวลานานอาจทำให้ความชุ่มชื่นของผิวลดลงได้
สำหรับกรณีที่อาการผื่นแดงยังไม่บรรเทาลง คุณอาจจำเป็นต้องเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ ทั้งตรวจสภาพผิวหนัง ทดสอบโรคภูมิแพ้ หรือทดสอบทางพันธุกรรมสำหรับสภาพผิวอีกครั้ง เพราะอาจมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ผื่นของคุณหายช้ากว่าปกติได้นั่นเอง
การดูแลผิวในฤดูหนาว
เนื่องจากสภาวะอากาศในช่วงฤดูหนาว อากาศจะมีความชื้นสัมพัทธ์ลดลง การสูญเสียน้ำออกจากผิวเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นปัญหาผิวส่วนใหญ่ของคนไทยในช่วงฤดูหนาว จะเป็นปัญหาในเรื่องของผิวแห้ง หยาบ เมื่อผิวแห้งมากๆ ก็จะเกิดอาการคัน มีผื่นขุย และมีโอกาสแตกเป็นแผลและติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการพบภาวะผิวแห้ง หรือ ผื่นคันเห่อในช่วงฤดูหนาวได้แก่
- ผู้สูงอายุ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสรีระ ของผิวหนังหลายประการ เช่น ปริมาณไขมันในชั้นผิวหนังลดลง การทำงานของต่อมเหงื่อลดลง ทำให้เกิดภาวะผิวแห้งได้ง่ายขึ้น
- บุคคลที่มีภาวะผิวหนังผิดปกติอื่นๆ เช่น เด็กหรือผู้ใหญ่ที่เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอยู่ก่อน ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินผู้ป่วยกลุ่มนี้ ผิวจะแห้ง และผื่นจะเห่อมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว
- บุคคลที่มีโรคประจำตัวบางชนิด หรือ รับประทานยาบางกลุ่ม จะทำให้มีผิวแห้งมากกว่าคนปกติ เช่น คนที่เป็นโรคตับหรือโรคไต จะมีผิวแห้งมากกว่าปกติ หรือผู้ที่รับประทานยากลุ่มยาลดไขมันบางตัว ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น
- ปัจจัยเสริมบางประการ เช่น การอาบน้ำบ่อยๆ โดยใช้สบู่อาบน้ำที่มีค่าความเป็นด่างสูง หรือ ชอบอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน การขัดผิวหรือใช้ผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ผิวถี่เกินไป
ดังนั้นการดูแลรักษาภาวะผิวแห้งในฤดูหนาว หลักๆก็คือ - การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสริมข้างต้น เช่น การอาบน้ำจะแนะนำใช้น้ำที่อุณหภูมิห้อง ใช้สบู่อ่อน และ ไม่แนะนำการขัดผิวในผู้ที่มีผิวแห้ง หรือมีผื่นผิวหนังอักเสบง่ายอยู่แล้ว
- การใช้ครีม หรือ โลชั่นบำรุงผิว จะช่วยลดอาการผิวแห้ง ป้องกันการเกิดอาการคัน หรือผื่นผิวหนังอักเสบได้ โดยเนื้อครีมจะให้ความชุ่มชื้น และเก็บกักความชุ่มชื้นให้กับผิวได้มากกว่าเนื้อ
โลชั่น แต่เนื้อโลชั่นจะให้ความรู้สึกที่ทาแล้วไม่เหนอะหนะ สบายผิวมากกว่า ทั้งนี้หากผู้ที่มีภาวะผิวแห้ง แต่ไม่ชอบความเหนอะหนะ อาจทาเป็นโลชั่นได้แต่แนะนำทาบ่อยครั้งมากขึ้น นอกจากครีมหรือโลชั่นแล้ว อาจใช้เป็นน้ำมัน หรือขี้ผึ้งทาบริวเณที่แห้งแตกได้เช่นกัน
- หากมีผื่นคันเกิดขึ้นร่วมกับอาการผิวแห้งแล้ว แนะนำพบแพทย์เฉพาะทาง เนื่องจากอาจต้องใช้ยาทา หรือยารับประทานเพื่อช่วยรักษาอาการผื่นคัน ทั้งนี้แนะนำงดการแกะเกา เพราะจะเกิดการระคายเคือง เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น และ ติดเชื้อแทรกซ้อนได้
นอกจากภาวะผิวแห้ง เป็นผื่นคันที่พบได้บ่อยในประเทศไทยแล้ว หากมีโอกาสได้ไปต่างประเทศที่มีอากาศหนาวมากๆ ต้องระมัดระวังภาวะที่ เกิดอุณหภูมิของร่างกายต่ำมาก เนื่องจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแดวล้อมได้ ( Systemic hypothermia) ซึ่งอาจเกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ซึมและหมดสติได้ หรือ เกิดอาการผิดปกติเฉพาะผิวหนังบางส่วน จากการที่หลอดเลือดหดตัว (Chilblaine or pernio) หรือเนื้อเยื่อแข็งตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็งจากอากาศเย็น ( Frostnip or frostbite) ซึ่งมักพบปลายนิ้วมือนิ้วเท้า ปลายจมูก ติ่งหู เป็นต้น ผิวหนังจะมีอาการซีด ชา หลังจากนั้นจะบวมแดง ปวดแสบปวดร้อน เกิดตุ่มพอง หรือผิวหนังบริเวณนั้นตายได้ ซึ่งการป้องกันจะต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม และ หลีกเลี่ยงอากาศที่หนาวจัดมากๆ หากเริ่มมีอาการดังกล่าว ต้องย้ายไปอยู่ในที่อบอุ่น และนำส่งร.พ.